นิทรรศการ หมายถึง การจัดแสดงสิ่งของวัสดุ อุปกรณ์มีความสัมพันธ์กันในแต่ละเรื่อง เพื่อเร้าความสนใจให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและเรียนรู้ด้วยการดู ฟัง สังเกต จับต้อง และทดลองภายใต้จุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจุดมุ่งหมาย โดยการใช้สื่อหลายชนิด เช่น แผนภาพ หุ่นจำลอง ของจริง นอกจากนี้นิทรรศการยังสามารถจัดกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบ เพื่อให้เกิดความสะดวก และรวดเร็วในการสื่อความหมายกับผู้ชม
1. คุณค่าของนิทรรศการ
1.1ส่งเสริมการทำงานเป็นหมู่คณะฝึกความรับผิดชอบ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ดี
1.2 สื่อต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงสามารถสื่อความหมายสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้
1.3 เป็นการจัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ด้วยการดู ฟัง สังเกต
1.4 สามารถนำความคิดที่กระจัดกระจายมารวมกันไว้ให้ผู้ชมสรุปเป็นความคิดรวบยอดได้อย่างถูกต้อง
2.ประเภทของการจัดนิทรรศการ
นิทรรศการที่พบเห็นทั่วไปแบ่งได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ คือ
2.2.1 การจำแนกตามขนาดได้แก่ การจัดแสดง นิทรรศการ มหกรรม
2.2.2 การจำแนกตามวัตถุประสงค์ในการจัด
2.2.3 การจำแนกตามระยะเวลา
2.2.4 การจำแนกตามสถานที่
3. หลักการออกแบบสำหรับนิทรรศการ
การจัดนิทรรศการให้มีประสิทธิภาพในการเร้าความสนใจ และให้ประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ชม ควรยึดหลักการออกแบบดังต่อไปนี้
3.1 ความเป็นเอกภาพ (Unity) หมายถึง การออกแบบทุกสิ่งทุกอย่างในการจัดนิทรรศการให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
3.2 ความสมดุล (Balancing) หมายถึง การจัดสิ่งต่าง ๆ ให้ได้สัดส่วนที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสบาย ไม่หนักหรือเบาไปด้านใดด้านหนึ่ง
3.3 การเน้น (Emphasis) เป็นการจัดสิ่งเร้าให้ดูเด่นเร้าความสนใจตามวัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นตัวเน้นได้ดี เช่น เส้น สี น้ำหนัก ทิศทาง ขนาด แสง เสียง เป็นต้น
3.4 ความเรียบง่าย (Simplicity) การจัดสิ่งเร้าให้มีความเรียบง่ายจะช่วยให้รู้สึกสบายสะดุดตา
3.5 ความแตกต่าง (Contrast) เป็นการจัดองค์ประกอบให้มีลักษณะแตกต่างกัน ให้ความรู้สึกตัดกัน เพื่อความชัดเจนและโดดเด่น
3.6 ความกลมกลืน (Harmony) เป็นการจัดองค์ประกอบให้มีลักษณะใกล้เคียงกัน ให้ความรู้สึกกลมกลืน นุ่มนวล ราบเรียบ
4. ขั้นตอนในการจัดนิทรรศการ
4.1 ขั้นการวางแผน
- การตั้งวัตถุประสงค์
- การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย
- การกำหนดเนื้อหา
- การกำหนดสถานที่
- การกำหนดเวลา
- การตั้งงบประมาณ
- การออกแบบนิทรรศการ
- จัดเตรียมอุปกรณ์
- การประชาสัมพันธ์
- การกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ
4.2 ขั้นการจัดแสดง
- การจัดวางหรือติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามที่วางแผนและออกแบบไว้ แต่สามารถปรับปรุงได้บ้างเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่จริง
- การติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้น ต้องมีความมั่นคง แข็งแรง ต้องระวังไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายระหว่างการนำเสนอ
- การป้องกันอันตรายอย่างรอบคอบจากวัสดุอุปกรณ์ที่มีคม
- ควรจัดพิธีกรให้คำแนะนำประจำกลุ่มเนื้อหาหรือกิจกรรมต่างๆเพื่อตอบข้อสงสัยผู้ชมระหว่างการชมนิทรรศการ
- การตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
- การประชาสัมพันธ์ภายในต้องใช้เสียงพอเหมาะกับจำนวนผู้ชมและบริเวณงาน
- ควรให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างเต็มใจ
- ขณะจัดแสดงอาจต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง
4.3 ขั้นการประเมินผล เป็นขั้นติดตามคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดนิทรรศการแต่ละครั้ง
5.เทคนิคการจัดนิทรรศการ
- การจัดแผ่นป้าย
แผ่นป้าย (board) หมายถึง แผ่นหนังสือหรือแผ่นเครื่องหมายที่บอกให้รู้(ราชบัณฑิตยสถาน, 2546, หน้า 696) เป็นวัสดุรองรับสื่อหรือเนื้อหาต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงซึ่งมีหลายรูปแบบหลายลักษณะแตกต่างกัน มีทั้งรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน บ้างเป็นแผ่นป้ายที่สามารถถอดประกอบกับขาตั้งไว้ บางป้ายยึดติดกับขาตั้งอย่างถาวร แผ่นป้ายบางชนิดเคลื่อนย้ายได้แต่บางป้ายติดอยู่กับที่อย่างตายตัวไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ วัสดุที่ใช้ทำแผ่นป้ายมีหลายชนิด เช่น ไม้อัด ไม้ไผ่สาน ไม้เนื้อแข็ง แผ่นพลาสติก แผ่นโลหะ แผ่นเซลโลกรีต เป็นต้น
5.1. ประเภทของแผ่นป้าย
แผ่นป้ายมีหลายประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิจารณา
5.1.1 การจำแนกตามวัสดุที่ใช้ทำ ได้แก่ ไม้ พลาสติก โลหะ
- ไม้ เป็นวัสดุแข็งแรงแต่สามารถตกแต่งดัดแปลงได้ง่ายและสะดวกในการใช้งาน ไม้ที่เหมาะกับการทำแผ่นป้าย ได้แก่ ไม้อัด ซึ่งมีความหมายขนาดแต่ที่เหมาะกับการทำแผ่นป้ายนิเทศควรมีความหนาตั้งแต่ 6 มิลิเมตรขึ้นไป ขนาดของแผ่นป้ายที่นิยมทำกันโดยทั่วไป หากเป็นป้ายขนาดใหญ่จะมีขนาดประมาณ 112 x 244 ซ.ม. ขนาดกลางประมาณ 122 x 122 ซ.ม. ขนาดเล็กประมาณ 61 x 122 ซ.ม.
- พลาสติก เป็นวัสดุสังเคราะห์มีหลายชนิด ชนิดที่สามารถนำมาทำแผ่นป้ายได้มีลักษณะเป็นแผ่นขนาดความกว้างยาวเท่ากับไม้อัด มีทั้งชนิดเนื้อทึบตันและชนิดโปร่งด้านในชนิดโปร่งด้านในหรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า ฟิวเจอร์บอร์ด ใช้งานได้ง่าย มีหลายสีให้เลือก น้ำหนักเบามากเหมาะกับการทำป้ายนิเทศแบบแขวน แต่ข้อเสียคือไม่แข็งแรง อายุการใช้งานสั้น
- โลหะ เป็นวัสดุที่มีความทนทานที่สุดแต่มีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะเหล็กแผ่น หรือสแตนเลสแผ่น ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการสร้างสรรค์ดัดแปลง วัสดุโลหะเหมาะเป็นแผ่นป้ายกลางแจ้งหรือป้ายถาวรติดตั้งอยู่กับที่ไม่มีการเคลื่อนย้าย เนื้อหาเป็นเชิงประวัติศาสตร์หรือการบันทึกเพื่อเป็นหลักฐานสำคัญ ป้ายนิเทศโลหะสามารถแสดงถึงคุณค่า ความมั่นคงถาวร น่าเชื่อถือหากมีความเหมาะสมก็สามารถติดตั้งในอาคารได้
5.1.2 การจำแนกตามลักษณะการติดตั้ง ได้แก่ ป้ายที่เคลื่อนที่ได้และป้ายที่เคลื่อนที่ไม่ได้
- ป้ายที่เคลื่อนที่ได้ สามารถนำไปติดตั้งในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ จึงจำเป็นต้องมีขาตั้งที่มั่นคง ไม่กระดกโยกแยก ขาตั้งอาจเป็นแบบติดตายตัวกับแผ่นป้ายหรือถอดประกอบเข้าออกได้ ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
- ป้ายที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เป็นป้ายนิเทศที่ติดตั้งอยู่กับที่อย่างถาวร ซึ่งอาจเป็นฝาผนังหรือบริเวณพื้นที่ที่สวยงาม ป้ายนิเทศแบบนี้มีข้อดีคือไม่ต้องเสียเวลาในการออกแบบติดตั้งอยู่บ่อย ๆ แต่มีข้อจำกัดคือเมื่อติดตั้งไว้นาน ๆ แล้วจะทำให้เกิดความเคยชิน จนอาจมีความรู้สึกชินชากับเรื่องราวหรือความรู้ที่นำเสนอในภายหลัง
5.1.3 การจำแนกตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ แบบสำเร็จรูป และแบบถอดประกอบ
- แบบสำเร็จรูป เป็นป้ายนิเทศที่ออกแบบและจัดสร้างไว้เรียบร้อยแล้วพร้อมนำไปจัดแสดงหรือใช้งานได้ทันที
- แบบถอดประกอบ เป็นชุดป้ายนิเทศที่ขาตั้งกับแผ่นป้ายแยกชิ้นจากกันเมื่อต้องการใช้งานจึงนำมาประกอบติดขาตั้งเข้าด้วยกัน
5.1.4 การจำแนกตามลักษณะการจัดแสดง ได้แก่ แบบตั้งแสดง แบบแขวน แบบติดฝาผนัง
- แบบตั้งแสดง เป็นป้ายนิเทศที่เห็นอยู่โดยทั่วไป เป็นแบบที่สะดวกในการออกแบบและติดตั้ง มีความมั่นคงสู สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งและทิศทางได้ง่าย
- แบบแขวน เป็นป้ายนิเทศที่กระตุ้นความสนใจได้ดี ให้ความรู้สึกตื่นเต้นไม่สิ้นเปลืองขาตั้ง แต่มีข้อจำกัดคือต้องออกแบบราวแขวนให้แข็งแรงเหมาะกับน้ำหนักของแผ่นป้ายไม่สะดวกในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหรือทิศทาง
- แบบติดฝาผนัง ป้ายติดผนังช่วยในการประหยัดพื้นที่ในการตั้งแสดง ให้ความรู้สึกมั่นคง เป็นระเบียบ ทำให้บริเวณห้องจัดแสดงโล่ง แต่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถออกแบบเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากติดตั้งไปตามทิศทางของฝาผนังเท่านั้น
5.2 เทคนิคการจัดทำแผ่นป้าย
5. 2.1 แผ่นป้ายยึดติดกับขาตั้งอย่างถาวร มีลักษณะแต่ละป้ายติดตายตัวกับขาตั้งสามารถวางตั้งได้อย่างอิสระไม่ต้องพึ่งพิงเกาะเกี่ยวกับวัสดุอื่น ปลายขาด้านล่างมีกากบาทหรือแผ่นโลหะรองรับน้ำหนักช่วยให้แผ่นป้ายตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง สามารถเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนไปมาได้สะดวก แผ่นป้ายทำด้วยไม้อัดหรือไม้ไผ่สาน โดยทั่วไปนิยมทำเป็นขนาด 112 x 122 ซ.ม. หรือขนาดครึ่งแผ่นไม้อัด
5.2.2 แผ่นป้ายอิสระ เป็นแผ่นป้ายอิสระไม่ยึดติดกับขาตั้ง สามารถถอดประกอบกับขาตั้งและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ได้ ส่วนสำคัญของแผ่นป้ายแบบนี้ได้แก่ ขาตั้ง ซึ่งเป็นขาที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษสามารถยึดเกาะแผ่นป้ายแล้วยืดหรือย่อให้สูงต่ำได้ ทำให้มีความยืดหยุ่นสูงในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานที่ทั้งแนวตั้งและแนวนอน
5.2.3 แผ่นป้ายสามเหลี่ยมรูปตัวเอ เป็นแผ่นป้ายยึดติดกับขาตั้งอีกแบบหนึ่งประกอบด้วยแผ่นป้าย 2 แผ่น ด้านบนติดบานพับทำให้สามารถพับเก็บและกางออกเพื่อตั้งแสดงได้เหมาะสำหรับตั้งแสดงไว้กลางห้องหรือบริเวณที่ห่างจากผนังห้อง เพราะผู้ชมจะสามารถชมเนื้อหาได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังขณะกางออกและตั้งแสดง
5. 2.4 แผ่นป้ายแบบแขวน เป็นแผ่นป้ายไม่ยึดติดกับขาตั้งโดยตรงสามารถถอดประกอบได้ การติดตั้งต้องใช้วิธีแขวนกับราวหรือกรอบที่ทำไว้รองรับโดยเฉพาะซึ่งอาจต่อเติมเสริมแต่งให้มีหลังคาขึงด้วยผ้าดิบ หรือเป็นกรอบราวแขวนธรรมดาก็ได้ แผ่นป้ายแบบนี้ให้ความรู้สึกน่าสนใจ พิถีพิถัน ดูไม่แข็งกระด้าง เหมาะกับการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นเรื่องพิเศษเฉพาะที่แปลกกว่าเรื่องอื่นทั่ว ๆ ไป หากเป็นป้ายมีหลังคาจะเหมาะกับนิทรรศการที่จัดแสดงเป็นเวลานาน ๆ หรือนิทรรศการภายนอกอาคาร
5. 2.5 แผ่นป้ายแบบโค้งงอรูปเป็นรูปทรงต่าง ๆ เป็นแผ่นป้ายที่ทำจากแผ่นพลาสติกหรือพีวีซี ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมในวงการธุรกิจ และหน่วยงานที่มีงบประมาณมากพอสมควร เพราะโดยทั่วไปแผ่นป้ายแบบนี้จะผลิตเนื้อหาเป็นรูปภาพและตัวอักษรจากระบบการพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ออกมาเป็นภาพเหมือนจริงขนาดใหญ่ สามารถออกแบบตกแต่งให้ได้ผลงานตามจินตนาการหรือตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. 2.6 แผ่นป้ายแบบกำแพง เป็นแผ่นป้ายที่มีความหนาเป็นพิเศษด้านล่างยึดติดกับฐานกล่องรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมทำให้สามารถวางตั้งได้ตามลำพัง แผ่นป้ายแบบนี้ให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง จึงเหมาะกับการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อถือศรัทธา ความเป็นปึกแผ่น ความสามัคคี ความมั่นคงถาวร เช่นเรื่องพระมหากษัตริย์ ศาสนา ราชการ การเมืองการปกครอง เป็นต้น
5. 2.7 แผ่นป้ายสำหรับจัดร้านขายสินค้า เป็นแผ่นป้ายหลายแผ่นเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วทำให้เกิดบริเวณพื้นที่ที่แสดงขอบเขตเฉพาะขึ้น อาจเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม เป็นเกาะรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือวงกลมที่ผู้ชมสามารถเดินดูได้โดยรอบ แผ่นป้ายแบบนี้จะได้รับการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถยึดเกี่ยวกันเป็นรูปทรงหรือบริเวณตามต้องการ สามารถนำตัวอย่างสินค้าผลิตภัณฑ์มานำเสนอผสมผสานกับรูปภาพ และข้อความบนแผ่นป้าย ทำให้ผู้ชมเข้าใจประทับใจกับสิ่งต่าง ๆ ในขอบเขตที่แผ่นป้ายตั้งแสดงได้
5.2.8 แผ่นป้ายตั้งแสดง เป็นแผ่นป้ายที่มีโครงสร้างสามารถพับยืดและเก็บได้มีความหนาประมาณ 40 ซ.ม. บางคนเรียกว่า ป๊อปอัพแสตน(pop-up stand) สามารถวางตั้งแสดงได้ด้วยตัวเอง และเนื่องจากเป็นแผ่นป้ายขนาดใหญ่พอสมควรจึงสามารถเร้าความสนใจได้ดี ทั้งยังทำหน้าที่เป็นฉากหลังสำหรับบริเวณจัดแสดงด้านหน้าได้อีก
5.2.9 แผ่นป้ายผืนธง เป็นป้ายที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีข้อความเชิญชวนคำขวัญ คำโฆษณา หรือรูปภาพ ในวงการโฆษณานิยมเรียกว่า แบนเนอร์ (banner) เป็นสื่อใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในวงการธุรกิจเอกชน การศึกษา การเมือง การตลาด การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากราคาไม่แพงมากนัก มีขนาดเล็กน้ำหนักเบามาก สามารถติดตั้งง่ายเหมือนป้ายผ้าโฆษณาธรรมดาแต่มีรูปแบบสวยกว่าสามารถสร้างสรรค์และออกแบบตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ได้ภาพตามต้องการได้โดยเฉพาะการสร้างภาพเหมือนจริงซึ่งเป็นภาพที่ไม่สามารถเขียนได้ด้วยมือ
- คุณค่าของป้ายนิเทศ
ป้ายนิเทศเป็นสื่อที่มีคุณค่าหลายประการ เช่น เป็นสื่อเร้าความสนใจผู้ชมโดยใช้รูปภาพ ข้อความ และสัญลักษณ์ที่สวยงามและมีความหมายต่อผู้ชม ใช้ในการจัดแสดงแจ้งข่าวสารผู้ชมสามารถศึกษาเนื้อหาได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกตามความพอใจ ช่วยประหยัดเวลาในการสอนและการสื่อ ความหมายเพื่อถ่ายทอดความรู้ นิยมใช้เป็นสื่อหลักที่สำคัญในการจัดแสดงหรือนิทรรศการทุกประเภท ป้ายนิเทศที่จัดอย่างสวยงามสามารถใช้เป็นสิ่งประดับตกแต่งห้องหรือบริเวณได้
- หลักการและเทคนิคการจัดป้ายนิเทศ
1. หลักการจัดป้ายนิเทศ การจัดป้ายนิเทศให้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นความสนใจและการสื่อความหมายควรคำนึงถึงหลักการต่อไปนี้
- การกระตุ้นความสนใจ
- การมีส่วนร่วม
- การตรึงความสนใจ
- ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ
- การเน้น
- การใช้สี
2. เทคนิคการจัดป้ายนิเทศ การจัดป้ายนิเทศที่ดีมีคุณค่าในการสื่อความหมายควรมีองค์ประกอบต่าง ๆ และเทคนิคดังต่อไปนี้
ชื่อเรื่อง จะต้องสั้น อ่านง่าย เด่นชัด สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลดึงดูดความสนใจได้ทันทีข้อความเชิญชวนหรือคำอธิบาย ควรมีลักษณะกระทัดรัด สั้นอ่านง่ายได้ใจความชัดเจน จัดช่องไฟได้เหมาะสม ควรเขียนข้อความให้ผู้ชมมีความรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมด้วยการสร้างมิติเพื่อการรับรู้ การสร้างภาพลวงตาให้ดูว่าป้ายนิเทศมีลักษณะตื้นลึกด้วยเส้นหรือแถบสี
- การใช้สี แสง เงา และบริเวณว่าง
- การเคลื่อนไหว
- การใช้รูปภาพ
- การจัดองค์ประกอบ
- การตกแต่งพื้นป้ายนิเทศ
- การจัดป้ายนิเทศร่วมกับสื่ออื่นจะช่วยให้การถ่ายทอดเนื้อหาสมบูรณ์และน่าสนใจยิ่งขึ้น
- การใช้เนื้อหาหรือกิจกรรมเป็นตัวกำหนด
- การจัดป้ายนิเทศให้สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์
1. การจัดภาพบนหน้าต่างหรือแบบวินโดว์ ภาพแบบหน้าต่างหรือแบบวินโดว์ (window) เป็นการจัดเพื่อเน้นรายละเอียดด้วยรูปภาพขนาดใหญ่เพียงภาพเดียว ทำให้ภาพมีความโดดเด่น สะดุดตาสามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมได้
2. การจัดภาพแบบละครสัตว์ การจัดภาพแบบละครสัตว์ (circus) เป็นการจัดภาพที่มีลักษณะเป็นกลุ่มๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ผู้ชมจะมีอิสระในการเลือกชมรูปภาพหรือเลือกอ่านเนื้อหาตามใจชอบ ดังนั้นการจัดภาพแบละครสัตว์จึงเหมาะกับเนื้อหาที่มีหลายหัวข้อย่อยแต่ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ
3. การจัดภาพแบบแกน การจัดภาพแบบแกน (axial) เป็นการจัดภาพที่มีรูปภาพอยู่ตรงกลางและมีคำอธิบายกำกับทั้งด้านซ้ายและด้านขวาหรือโดยรอบ การจัดแบบนี้จึงมีลักษณะคล้ายแผนภูมิหรือแผนภาพเหมาะกับเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอดความรู้เป็นเฉพาะจุดหรือตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่ต้องการ
4. การจัดภาพแบบกรอบภาพ การจัดภาพแบบกรอบภาพ (frame) เป็นการจัดโดยนำภาพที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวางเรียงต่อเนื่องกันล้อมรอบเนื้อหาข้อความ จนดูเหมือนกรอบภาพ ทำให้ป้ายนิเทศดูเด่นสะดุดตา การจัดลักษณะนี้ช่วยให้ผู้ชมได้ ข้อคิดความรู้จากเนื้อหาที่อยู่ตรงกลางประกอบกับรูปภาพที่เรียงรายกันเป็นกรอบอยู่รอบ ๆ
5. การจัดภาพแบบตาราง การจัดภาพแบบตาราง (grid) เป็นการจัดภาพไว้ในตารางซึ่งอาจเว้นช่องใดช่องหนึ่งหรืออาจขยายภาพใดภาพหนึ่งเพื่อให้เกิดจังหวะระหว่างรูปภาพทำให้ดูแปลกตาและในส่วนที่ช่องว่างยังทำหน้าที่เป็นที่พักสายตาผู้ชมไปด้วย การจัดภาพแบบนี้เหมาะกับเนื้อหาที่มีองค์ประกอบหลายแง่มุมแต่ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับก่อนหลัง
6. การจัดภาพแบบแถบ การจัดภาพแบบแถบ (band) เป็นการจัดรูปภาพและเนื้อหาที่เรียงตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่ขั้นต้นถึงขั้นสุดท้าย แสดงให้เป็นลำดับขั้นเช่น การขับรถยนต์ การทำนา การผ่าตัดอวัยวะภายใน การทำน้ำตาลทราย การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ กระบวนการทำหนังสือพิมพ์เป็นต้น การจัดป้ายนิเทศแบบนี้จะช่วยให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาอย่างเป็นขั้นตอนได้ดี
7. การจัดภาพแบบแกน การจัดภาพแบบแกน (path) เป็นการจัดให้รูปภาพหรือเหตุการณ์เรียงกันอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งซึ่งอาจคดเคี้ยวโค้งงอไปตามจังหวะที่สวยงาม ขณะเดียวกันก็จะแทรกเนื้อหาซึ่งเป็นข้อความไปตามช่องว่างที่มีพื้นที่เหมาะสม การจัดป้ายนิเทศแบบนี้เหมาะกับการนำเสนอเนื้อหาหรือเหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปตามลำดับการกำหนดบริเวณว่างในนิทรรศการ
บริเวณว่างเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดนิทรรศการ สามารถทำให้นิทรรศการมีคุณค่าและประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี บริเวณว่างจะเข้าไปเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อองค์ประกอบอื่น ทำให้ผู้ชมเกิดความพึงพอใจในประโยชน์ใช้สอยและความงามจากการออกแบบและการกำหนดบริเวณว่างที่เหมาะสม แต่ถ้าบริเวณว่างมีมากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลเสียทำให้ผู้ชมรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว หรืออึดอัดคับข้องใจ ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงลักษณะและการออกแบบบริเวณว่างดังนี้
1. ลักษณะของบริเวณว่าง
บริเวณว่างมี 2 ลักษณะได้แก่ บริเวณว่างที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์ (positive space) และบริเวณว่างที่นอกเหนือจากการใช้สอย (negative space) อย่างไรก็ตามบริเวณว่างทั้งสองลักษณะมีความสัมพันธ์และส่งผลกระทบซึ่งกันและกันเสมอ
2. การออกแบบบริเวณว่าง
2.1 การจัดองค์ประกอบแนวตั้ง องค์ประกอบแนวตั้ง โดยปกติจะกินพื้นที่อากาศในแนวดิ่ง มองโดยรวมจะเป็นเส้นตั้ง (linear vertical element) จะช่วยกำหนดขอบมุมของปริมาตรของที่ว่าง (บัณฑิต จุลาสัย, 2533, หน้า 59) แต่ถ้ากำหนดให้มีองค์ประกอบลักษณะเดียวกันมากกว่า 2 องค์ประกอบขึ้นไป และวางในตำแหน่งมุมต่างกันที่ไม่ใช่แถวเดียวกัน
2.2 การจัดองค์ประกอบระนาบแนวตั้ง องค์ประกอบระนาบแนวตั้ง มีลักษณะแผนกั้นเป็นฉากหลังของพื้นที่ระนาบแนวตั้ง (linear vertical plane) จะสร้างที่ว่างหน้าระนาบ (บัณฑิต จุลาสัย, 2533, หน้า59) ก่อให้เกิดบริเวณว่างขึ้นด้านหน้าของระนาบแนวตั้ง 90 องศา บริเวณว่างที่เกิดขึ้นใหม่สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กับบริเวณด้านหน้าได้อย่างกลมกลืน ส่วนบริเวณว่างด้านข้างทั้งสองข้างมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างด้านหน้าของระนาบน้อยมาก
2.3 การจัดองค์ประกอบระนาบแนวตั้งรูปตัวแอล (L) องค์ประกอบระนาบแนวตั้งรูปตัวแอล หรือระนาบมุมฉาก (L-shaped planes) ช่วยสร้างปริมาตรของที่ว่างภายในมุมฉาก (บัณฑิต จุลาสัย, 2541, หน้า 73) เป็นระนาบแนวตั้ง 2 ด้านบรรจบกันที่มุมใดมุมหนึ่ง ก่อให้เกิดสนามบริเวณว่างจากมุมตามแนวทแยงมุมทั้งนี้เนื่องมาจากการรวมตัวกันของบริเวณว่างที่เกิดจากระนาบแนวตั้งทั้ง 2 ด้าน ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมได้จากมุมกว้างให้มุ่งตรงไปยังจุดสนใจเพียงจุดเดียวได้ง่ายขึ้น
2.4 การจัดองค์ประกอบระนาบแนวตั้งขนานกัน องค์ประกอบระนาบแนวตั้งขนานกัน หรือระนาบคู่ขนาน (parallel planes) จะช่วยสร้างปริมาตรของที่ว่างระหว่างระนาบทั้งสองและแสดงทิศทางตามระนาบคู่ขนาน (บัณฑิต จุลาสัย, 2541, หน้า 79) ระนาบแบบนี้จะกำหนดบริเวณว่างระหว่างคู่ขนานนำไปสู่ด้านที่เปิดออก (ทิพย์สุดา ปทุมานนท์, 2535, หน้า 55) เป็นระนาบที่ก่อให้เกิดบริเวณว่างจากระนาบแนวตั้งทั้ง 2 ด้านเข้ามารวมตัวกันตรงกลาง ทำให้ปริมาตรบริเวณว่างที่เกิดขึ้นใหม่เชื่อมโยงกับบริเวณว่างภายนอกตามแนวขนานได้ 2 ทาง
2.5 การจัดองค์ประกอบระนาบรูปตัวยู องค์ประกอบระนาบรูปตัวยู (U) เป็นระนาบปิดล้อมสามด้าน (U-shaped planes) สร้างปริมาตรของที่ว่างระหว่างระนาบทั้งสามและแสดงทิศทางทางด้านเปิด (บัณฑิต จุลาสัย, 2535, หน้า 73) เป็นบริเวณว่างที่เกิดจากระนาบแนวตั้ง 3 ด้านบรรจบกันเข้าเป็นรูปตัวยูทำให้ด้านหนึ่งที่เหลือเปิดออกสู่บริเวณว่างด้านนอก การกำหนดบริเวณว่างแบบนี้มีจุดเด่นคือความเป็นเอกเทศที่สามารถออกแบบและสร้างสรรค์องค์ประกอบให้เป็นไปตามจินตนาการได้ง่าย
3. การกำหนดบริเวณว่างในเชิงจิตวิทยา
การใช้บริเวณว่างในเชิงจิตวิทยาเพื่อการเชิญชวนลูกค้าหรือผู้ชมเข้าชมและร่วมกิจกรรมควรคำนึงถึงธรรมชาติของการปฏิสัมพันธ์และการแสดงออกของผู้ชม โดยเฉพาะลูกค้าใหม่หรือผู้ชมที่ยังไม่คุ้นเคยกับสินค้าผลิตภัณฑ์ใหม่ ควรยึดหลักสำคัญคือการหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางใด ๆ ทุกชนิดระหว่างทางสัญจรภายนอกกับบริเวณภายในนิทรรศการ เช่น พื้นที่ต่างระดับกัน การใช้เส้นขวางหรือสีกำหนดขอบเขต โต๊ะ แผงกั้นราว ตู้ ชั้นวางสิ่งของ แต่หากเป็นผู้ชมที่ต้องการปรึกษาในรายละเอียด จำเป็นต้องจัดบริเวณพิเศษแยกจากส่วนผู้ชมทั่วไป
การกำหนดทางเดินชมนิทรรศการ
1. การสัญจรทิศทางเดียวชมได้ด้านเดียว
2. การสัญจรทิศทางเดียวชมได้ 2 ด้าน
3. การสัญจรอย่างอิสระตามความต้องการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น